top of page
shutterstock_1135083989.jpg

BTSไม่หวั่นต่อสัมปทานตามแผนค่ารถแตะ158บาท

อัปเดตเมื่อ 30 ส.ค. 2562

BTS ไม่หวั่นหลัง กมธ. ค้านต่อสัมปทานยาว แลกกับค่ารถ 65 บาทตลอดสาย ชี้ยังมีสัญญายาวอีก 25 ปี แต่ยังเร็วไปที่จะสรุป เหตุ มติ กมธ. ขัดกับ ม.44 กูรูชี้ไม่ต่อสัมปทานเป็นบวกต่อ BTS ไม่ต้องรับภาระหนี้ เปิดสัญญารับจ้างเดินรถสามารถเก็บค่าโดยสารสูงสุดถึง 158 บาท


จากกรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (BTS) สภาผู้แทนราษฎร ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในการขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวของ BTS ออกไปอีก 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2573 เพื่อแลกกับการควบคุมอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่ให้เกิน 65 บาท โดยมีความเห็นว่าควรพยายามทำให้ทรัพย์สินของเอกชนที่ร่วมลงทุนโอนกลับมาเป็นของรัฐ เพื่ออำนาจในการต่อรองอัตราค่าโดยสารดีกว่า

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ระบุว่า ทางบริษัทอยู่ระหว่างรอท่าทีที่ชัดเจนจากทางรัฐบาลเรื่องการต่อสัญญา แต่ในการดำเนินธุรกิจนั้นก็ยังคงให้บริการประชาชนตามปกติ ในฐานะผู้รับจ้างเดินรถ หากสุดท้ายแล้วการต่ออายุสัมปทาน 30 ปี ไม่ได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐ ก็จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน เพราะปัจจุบันมีสัญญาเดินรถอยู่แล้วมีอายุถึง 25 ปี

โดยปี 2562 เป็นปีแรกที่ทาง BTS Group จะได้รับค่าจ้างเต็มปี 1,500 ล้านบาท จากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงสมุทรปราการ-บางปู อีกทั้งยังเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ 1 สถานีแรกจากสถานีหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าวได้เร็วกว่ากำหนดการ เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการช่วงต่อจากห้าแยกลาดพร้าว-แยกเกษตรภายในเดือนธันวาคม 2562 และจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถตลอดสายถึงคูคต จำนวน 16 สถานีได้ภายในเดือนธันวาคม 2564 ตามกรอบเวลา

ปัจจุบัน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BTS Group ลงนามสัญญารับจ้างเดินรถ-พัฒนาระบบรถไฟฟ้า สายสีเขียวกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ระยะเวลา 25 ปี (สิ้นสุดสัญญาปี 2572)

นายสุรพงษ์ ระบุด้วยว่า BTS Group วางแผนสั่งซื้อรถใหม่ทั้งสิ้น 46 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวม 184 ตู้ เข้ามารองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยจะทยอยรับมอบรถทั้งสิ้น 22 ขบวนภายในปี 2562 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการสายสีเขียวใต้อย่างเป็นทางการ และจะทยอยรับอีก 24 ขบวนภายในปี 2563 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองในปี 2564 ซึ่งจะทำให้ BTS มีรถบริการทั้งระบบ 98 ขบวน รวม 392 ตู้เบื้องต้นคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการควบทั้งระบบ จะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 10% จากปัจจุบันขบวนละ 1,490 คน เป็น 1,573 คน โดยยังคงรักษาอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิไว้ที่ 25-30% ตามแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี

ผลศึกษา 2 คณะขัดกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการขยายอายุสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว สำหรับส่วนต่อขยายทั้งช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง, ตากสิน-บางหว้า, แบริ่ง- สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ออกไปอีก 30 ปีนับตั้งแต่ปี 2573 เพื่อควบคุมอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่ให้เกิน 65 บาท มีการตั้งคณะทำงาน 2 ชุดประกอบด้วย 1.คณะทำงานที่ได้รับมอบหมายตาม ม.44 ซึ่งมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการมีข้อสรุปให้ทางกรุงเทพมหานครขยายอายุสัญญาให้ BTS Group อีก 30 ปี โดยแก้ไขในสัญญาเดิมให้เริ่มนับหนึ่งในปี 2573 หลังสัญญาเดิมสิ้นสุดแล้ว แลกกับมูลหนี้ของ กทม.กว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนค่าโดยสารสามารถจัดเก็บสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ซึ่งจะรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

อีกคณะหนึ่งคือกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (BTS) สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐเป็นประธาน เบื้องต้นมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ ไม่ให้ กทม.ขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวให้ BTS Group โดยมีความเห็นว่าพยายามทำให้ทรัพย์สินของเอกชนที่ร่วมลงทุนโอนกลับมาเป็นของรัฐ เพื่ออำนาจในการต่อรองอัตราค่าโดยสาร ซึ่งรัฐจะสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารได้หากหมดสัมปทานในปี 2572 และระยะเวลาสิ้นสุดสัมปทานอีก 10 ปี รัฐสามารถจัดหา ผู้เดินรถรายใหม่ได้ และทาง กทม.ควรเข้ามาดูแลค่าโดยสารให้ถูกลง และภาระหนี้สินที่รฟม. โอนมารัฐควรจะหาวิธีการอื่น และเพื่อลดการผูกขาดของเอกชน โดยจะนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

ที่ดิน 77.3 ตร.วา | ใกล้สวนหลวง | 4.35 ล้านบาท

เป็นปัจจัยบวกต่อ BTS

นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุ กรณีที่ กรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (BTS) สภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ ไม่ให้กทม.ขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวให้ BTS Group ถือเป็นปัจจัยบวกต่อ BTS Group


เนื่องจากจะทำให้ BTS Group คิดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ตามระยะทางรวมประมาณ 70 กิโลเมตร ที่อัตราสูงสุดตามสัญญาการรับจัดการเดินรถส่วนต่อขยายทั้งเส้นทางที่ 158 บาท แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่ถือเป็นข้อยุติ เพราะยังต้องนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะเลือกแนวทางใดที่เป็นประโยชน์และลดภาระให้ประชาชนมากที่สุด

ปัจจัยบวกอีก 1 ปัจจัยสำหรับ BTS Group คือเป็นผู้ชนะประมูลโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา และ บางใหญ่-กาญจนบุรี โดยจะทำสัญญาแบบ PPP gross cost เบื้องต้นฝ่ายวิเคราะห์ประเมินมูลค่าเพิ่มในหุ้นประมาณ 0.80 บาทต่อหุ้น และอยู่ระหว่างรอความชัดเจนของแผนการก่อสร้าง เนื่องจากจะยังมีมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์จาก "จุดพักรถ" ตลอดเส้นทางอีกด้วย จึงคงนำแนะนำ "ซื้อ" ราคาเหมาะสม 14 บาท

"กรณีสายสีเขียวไม่ว่า BTS Group จะได้ขยายอายุสัมปทานหรือไม่ก็ไม่กระทบต่อปัจจัยพื้นฐานการดำเนินงานเพราะมีสัญญาว่าจ้างเดินรถ 25 ปีอยู่แล้ว อีกทั้งหากไม่ได้ขยายอายุสัมปทานก็สามารถเก็บค่าโดยสารได้ตามต้นทุนจริงที่ 158 บาท ซึ่งก็ไม่ต้องไปนำเงินในอนาคตมาใช้ไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ย ขณะเดียวกันบริษัทยังมีโอกาสร่วมประมูลงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง"

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุว่า การที่ กมธ. มีมติไม่ขยายสัมปทานให้แก่ BTS ค่อนข้างผิดจากที่คาดว่า BTS จะได้ปรับสัญญาสัมปทานจากรับจ้างเดินรถเป็น PPP Net Cost หลังจากสัมปทาน Core Network (หมอชิต-อ่อนนุช, สนามกีฬาแห่งประเทศไทย-สะพานตากสิน) หมดสัมปทานในปี 2572 แต่เรามีมุมมองปกติต่อประเด็นดังกล่าว เนื่องจากประมาณการผลประกอบการและราคา เป้าหมายของเราไม่ได้รวมการขยายสัญญาสัมปทาน และแม้ BTS ไม่ได้รับการปรับสัญญาสัมปทาน ก็จะไม่กระทบต่อการดำเนินงานของ BTS เนื่องจากปัจจุบัน BTS มีสัญญา O&M สำหรับ Core Network และส่วนต่อขยาย (อ่อนนุช-แบริ่ง, สะพานตากสิน-บางหว้า, แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต) จะหมดสัมปทานในปี 2585 ซึ่งเราประเมินรายได้จากรับจ้างเดินรถ (O&M) อยู่ที่ 3,480 ล้านบาทในปี 2562/2563 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,500 ล้านบาท ในปี 2565/2566 หลังจากเปิดส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต โดยเรายังคงคำแนะนำ "ถือ" สำหรับ BTS จาก upside ที่จำกัดต่อราคาเป้าหมายของเรา 13 บาท โดยประมาณการผลประกอบการของเรายังไม่รวม 1. สัมปทานมอเตอร์เวย์ 2 สายเนื่องจากยังรอความชัดเจนของรายละเอียด 2. การประมูลสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งกลุ่ม BTS มีโอกาสชนะการประมูลเนื่องจากผู้ประมูลเหลือเพียง 2 ราย คาดจะทราบผลประมูลภายในปีนี้


ขอบคุณแหล่งข่าวจาก https://www.reic.or.th/News/RealEstate/440490

ดู 12 ครั้ง

Comments


bottom of page